Blog Detail Pic

จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ ม.ราชภัฏสุรินทร์ จัดงาน Surin Poverty Forum และลงนาม MOU โครงการการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การทำงานร่วมกันกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสุรินทร์

by งานประชาสัมพันธ์ | อังคาร 12 กันยายน

วันที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 10.30 น. ณ ห้องบันทายศรี ชั้น 3 คณะวิทยาการจัดการ (อาคาร 44) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดงาน Surin Poverty Forum และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การทำงานร่วมกันกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสุรินทร์ โดยได้รับเกียรติจากนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ในการนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การเรียนรู้ เทคโนโลยี และนวัติกรรม และหัวข้อ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดสุรินทร์ด้วย Surin Poverty Database ตามลำดับ

สำหรับการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับกลไกความร่วมมือเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสุรินทร์ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในทุกมิติแบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมและการยอมรับสารสนเทศที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงาน อีกทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพ อาชีพ และยกระดับคนจนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ พร้อมสร้างโอกาสให้กลุ่มครัวเรือนยากจนได้ยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจนให้มั่นคงมีความสุข และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และพัฒนายุทธศาสตร์การขจัดความยากจนระดับจังหวัดที่มีเป้าหมายขจัดความยากจนระดับพื้นที่อย่างชัดเจนทำให้คนจนหลุดพ้นความยากจนที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์อำเภอ หรือแผนจังหวัด (One Plan) ภายใต้การทำงานร่วมกันของกลไกพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีเจตนารมณ์ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือประชาชนยากจนรายครัวเรือนให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวม และให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจน ให้สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงมีความสุขและยั่งยืน  และให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาตามหลักปรัชญของเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้จากการสอบทานคนจนและครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมครบทั้งจังหวัด จำนวน 144,551 ครัวเรือนที่มีปัญหาจาก 4 ฐานข้อมูล ได้แก่ ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (Practical Poverty Provincial Connext : PPPConnext) ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ระบบสารสนเทศบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (Thai QM) และระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (MSO) ด้วยการบูรณาการร่วมกับคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(ศจพ.) จังหวัดสุรินทร์ พบว่า มีข้อมูลครัวเรือนยากจนที่อยู่มากกว่า 1 ฐานข้อมูล มีการช่วยเหลือซ้ำซ้อนกันในบางครัวเรือน ในขณะที่บางครัวเรือนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือที่ยังไม่แม่นยำ ตรงจุด จึงทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้นการจัดทำ Surin Poverty Database เพื่อเป็นฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัดสุรินทร์ และภาคีเครือข่าย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจนของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์สู่การดำรงชีพอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างกลไกการบริหารจัดการภาพรวมของการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำครอบคลุมพื้นที่ 17 อำเภอในจังหวัดสุรินทร์ และเป็นโอกาสที่ท้าทายความสามารถ และทำให้เกิดการร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ได้แก่ การส่งต่อความช่วยเหลือ การออกแบบปฏิบัติการแก้จน และกลไกความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการนำไปสู่การปฏิบัติแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ได้จริง สร้างองค์ความรู้และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมต่อไป สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของพื้นที่สู่การดำรงชีพอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดสุรินทร์ตามแผนพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ประเด็นการพัฒนาที่ 5 การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพันธกิจในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงของประชาชนสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยใช้กลไกประชารัฐในพื้นที่ ได้แก่ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

พร้อมกันนี้ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับส่วนราชการ ภาคประชาสังคมในจังหวัดสุรินทร์ และคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ โดยพระเทพวชิรญาณโสภณ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และเจ้าคณะอำเภอทั้งสองฝ่าย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดสุรินทร์ และร่วมแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดสุรินทร์แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วย Surin Poverty Database อีกด้วย